content

7 อาหารที่ควรมีไว้ติดบ้าน เพื่อคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่หมัด

ในปัจจุบัน คนไทยประสบกับภาวะความดันโลหิตสูงมากขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย และผลลัพธ์อื่นๆ ที่ไม่พึงประสงค์ตามมา

หนึ่งในหนทางการรักษาและป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง ก็คือ “การควบคุมอาหาร” โดยการเลือกทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ที่สำคัญ ต้องมีผลกระทบต่อความดันโลหิตน้อยมากๆ ด้วย

และนี่ก็คือ 7 อาหารที่ควรมีไว้ติดบ้าน เพื่อคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติค่ะ มาดูกันว่ามีอะไรกันบ้าง

1) กล้วย

เพราะกล้วยอุดมไปด้วยโพแทสเซียมที่ช่วยให้ระดับความดันโลหิตดี ทางสมาคมโรคหัวใจอเมริกา (American Heart Association) จึงได้แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 120/80 เพิ่มปริมาณโพแทสเซียมในอาหาร นอกจากการปอกเปลือกทานแบบสดๆ แล้ว ทุกคนก็ยังสามารถนำไปปั่นทานแบบสมูธตี้ได้อีกด้วย ผลลัพธ์ที่ออกมาแทบไม่ต่างกันเลยค่ะ

2) ถั่ว

ถั่วมีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตตามธรรมชาติ โปรตีนจากพืช วิตามิน แร่ธาตุ รวมไปถึงแมกนีเซียม ไฟเบอร์ และแป้งทนต่อการย่อยด้วยเอนไซม์ที่ช่วยในเรื่องลดความดันโลหิตด้วย จึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกอาหารที่ควรมีไว้ติดบ้านไปโดยปริยาย

3) โยเกิร์ต

ในปัจจุบัน โยเกิร์ตได้กลายเป็นอาหารยอดนิยมที่ช่วยเรื่องสุขภาพของลำไส้ไปแล้ว แต่ทุกคนรู้ไหมว่าโยเกิร์ตเองก็เป็นอาหารที่ช่วยในเรื่องความดันโลหิตสูงด้วยนะ โดยผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Dairy Journal ระบุว่า โยเกิร์ตนมรสธรรมชาติประกอบด้วยไตรเฟคต้าที่อยู่ในแคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งมีส่วนช่วยในเรื่องความดันโลหิต แถมยังสามารถนำไปทำเมนูได้หลายอย่าง ทั้งพาเฟ่ต์ สมูธตี้ หรือจะทานเปล่าๆ เลยก็ยังได้

4) อินทผลัม

ถ้าพูดถึงผลไม้ที่อุดมไปด้วยความหวานและช่วยให้ความดันโลหิตดี ต้องนึกถึง “อินทผลัม” เลยค่ะ เพราะอินทผลัมอุดมไปด้วยไฟเบอร์ โพแทสเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งดีต่อหัวใจมากๆ แถมยังเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่นิยมนำมาทำเป็นขนมเพื่อสุขภาพด้วย ทั้งพาวเวอร์บอล หรือบราวนี่สูตรมังสวิรัติ ก็เข้ากันมากๆ

5) ข้าวโอ๊ต

ข้าวโอ๊ตก็เป็นหนึ่งในอาหารสุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะในข้าวโอ๊ตจะมีไฟเบอร์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “เบต้ากลูแคน” ซึ่งมีส่วนช่วยในการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ อีกทั้งยังมีปริมาณวิตามินและแร่ธาตุมากกว่าธัญพืชชนิดอื่นๆ ด้วย

6) บลูเบอร์รี่

จากผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน Journals of Gerontology ระบุว่า หากรับประทานบลูเบอร์รี่ป่าประมาณ 1 ถ้วย ทุกวัน อาจช่วยลดความดันโลหิตซิสโตลิก หรือ ความดันช่วงบนได้ บลูเบอร์รี่ประกอบด้วยไฟเบอร์ วิตามิน แร่ธาตุ รวมไปถึงสารอาหารต่างๆ ที่ช่วยดูแลระบบหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังอุดมไปด้วยสารแอนโธไซยานิน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อความดันโลหิตด้วย

7) น้ำส้ม

น้ำส้มคั้น 100% เป็นแหล่งโพแทสเซียมที่หาได้ตามธรรมชาติ และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า “เฮสเพอริดิน” ซึ่งมีบทบาทต่อสุขภาพของหัวใจในรูปแบบต่างๆ มีการทดลองหนึ่งที่ได้ลองให้ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงดื่มน้ำส้มปริมาณ 500 มิลลิลิตร ทุกวันเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าระดับความดันซิสโตลิก หรือความดันช่วงบนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อเทียบกับผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีสารต้านอนุมูลอิสระ “เฮสเพอริดิน” ที่มีแคลอรี่ วิตามินซี และกรดซิตริกในปริมาณเท่ากัน

ที่มา Eatingwell